NGO ของฉันจะอยู่ในโลกไซเบอร์อย่างไรนี่

NGOs ในโลก Cyber Space ตอนที่ 1 จาก Web 1.0 ถึง 2.0 โธ่เอ๊ย !… กว่า NGOs จะข้ามพ้นความเชย

by : อัฎธิชัย ศิริเทศ
IP : (124.120.112.235) – เมื่อ : 29/09/2010 11:39 AM

 

โลกของ Cyber พลังของ world wide web หรือ www ในสังคมมนุษย์ปัจจุบันนี้ กำลังมีบทบาทมากขึ้นทุกวัน ทั้งรวดเร็ว แพร่กระจาย และมีอิทธิพลทรงพลังมากกับชีวิตประวันของมนุษย์ และสังคม เพราะนอกจากจะรวดเร็ว แพร่กระจายในวงกว้างแล้วยังทะลุทะลวง ไร้สิ่งกีดกั้นตรวจสอบได้ง่ายๆ จนมีบางคนกำลังอธิบายว่า “ต่อจากนี้ไปมนุษย์จะข้ามพ้นความโง่เขลาแล้วกลับมาเชื่ออีกครั้งว่า โลกใบนี้มัน แบ๊นนนน… แบน” หมายถึง โลกทั้งโลกถูกกางออกให้มนุษย์รู้จักและเดินท่องได้ทั่ว ผ่านจอแบนๆ ผ่านคาถา 3 คำนี้ คือ www และคุณจะได้ไหนๆ ก็ได้ ได้ทันทีแค่เพียงนิ้วชี้คุณ click ! ทุกซอกทุกมุมโลก ทุกเรื่อง ทุกอย่างก็จะแผ่หรา อยู่หน้าจอ สะดวกและแสนง่าย ทุกอย่างที่อยากรู้ ทุกเรื่องที่อยากเห็น ทุกคน ทุกหนแห่ง ทุกช่องทางที่อยากสื่อสาร มันจะปรากฏต่อหน้า คุณทันทีที่ขยับปลายนิ้ว

ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีและระบบสารสนเทศในโลกสมัยใหม่นี้เอง ที่สั่นคลอนวิธีคิด วิธีปฏิบัติและความสัมพันธ์ของคน ของมนุษย์ในสังคมไปอย่างรวดเร็ว และไม่นานจะสั่นคลอนมนุษย์กับอำนาจดั้งเดิมโดยเฉพาะในขณะนี้ แน่นนอนว่ามันส่งผลมากมาย ไปในทุกๆ สาขาอาชีพ แม้กระทั่งในกระแสงานงานพัฒนา หรือ ที่รู้จัก คือ งาน NGOs

โลกของ Internet และกำเนิด www ในวงการงานพัฒนาในประเทศไทย ปรากฏโฉมหน้าจริงๆ บนบรรณพิภพ วงการงานพัฒนานี้ เมื่อไม่นานนัก หลังสุดของกระแสเลยก็ว่าได้ เมื่อประมาณ 10 กว่าปีมานี้เอง ที่ขบวนการ NGOs ไทยตื่นตัวและตื่นตูม ปรับตัว ปรับความคิด ปรับกระบวนทัศน์การทำงานและการนำเทคโนโลยีสารสนเทศเหล่านี้ขึ้นมาใช้ และต่อมาก็ใช้เครื่องมือสื่อสารนี้เป็นหลักแทบทุสาขา ซึ่งตั้งแต่ต้นจนถึงตอนนี้ เราเรียกยุค www เหล่านี้ว่า ยุค web 1.0 (2540-252544)

ความคึกคักในยุ่งของการนิยมใช้ Internet และการเผยแพร่ข้อมูลผ่านเว็บไซต์ จะเริ่มเห็นเป็นรูปธรรม คือ ระหว่างปี 2545-2550 โดยเฉพาะ Email นี่มีใช้กันเกือบทุกคน แทบจะ 100% ก็ว่าได้ ขบวนการงานพัฒนาหรือ NGOs หันความสนใจเข้ามาใช้เทคโนโลยีสื่อสารสนเทศอย่างจริงจังสูงสุดคือในช่วงต้นทศวรรษที่ผ่านมานี้เอง ซึ่งนับว่าเป็นยุคทองของ web 1.0 ในสาย IT ของขบวน NGOs เลยก็ว่าได้เพราะ แทบทุกองค์กร มีเว็บไซต์ แทบทุกคนมีเมล์ใช้ ซึ่งต่างจากก่อนหน้านั้นไปสัก 5 ปี เกือบครึ่งหนึ่ง เพราะส่วนมากยังไม่มี อีเมล์ใช้ด้วยซ้ำ ในขณะที่วงการอื่นๆ โดยเฉพาะวงการธุรกิจ E-Commerce

สำหรับวงการพัฒนา หลังจากทำท่าจะบูมไม่นานก็ซบเซา และ หลายๆ เว็บก็เริ่มปิดตัวลง บ้างก็ห่างหายไปไม่ได้พัฒนาเว็บไซต์ ไม่ได้อัพเดท ไม่ได้ลงแรงทุ่มทุนพัฒนาเครื่องมือสื่อสารหรือเพื่อเผยแพร่เนื้อหา พัฒนาโปรแกรม ต่อไปอีก ส่วนมากหันไปใช้พื้นที่อื่นๆ อาทิ Blog ส่วนตัว และ E mail และแล้วงานพัฒนาเว็บไซต์เพื่อเป็นสื่อสารสนเทศเพื่อการพัฒนา ก็เริ่มไม่มีการเคลื่อนไหว มากนัก จากนั้น web 1.0 ก็ร่วงและไม่เป็นที่นิยมในเวลาต่อมา

ส่วนมาก รูปแบบของเว็บไซต์งานพัฒนาในยุค web 1.0 ก็มีลักษณะเหมือนเว็บทั่วๆ ไปในยุคนั้น เป็นพื้นที่ที่อัดแน่นไปด้วยข้อมูล ข้อมูล และข้อมูล มีแต่ข้อมูล ข้อมูลชุดใหญ่ อาทิ รายงานการวิจัย แถลงการณ์ ข้อเสนอต่อรัฐบาล ปัญหาในเชิงนโยบาย ฯลฯ เป็นข้อมูลที่ขาดชีวิตชีวา ขาดการอัพเดทและในที่สุดก็ขาดความน่าสนใจ กระนั้น ขบวนการ NGOs ในยุคนั้น ก็ฝันถึงพลังเปลี่ยนแปลงทางสังคมอันเป็นผลมาจากสื่อ บทความ ที่นำเสนอผ่านเว็บ เมื่อไม่มีคนดู ก็ไม่มีทุน ไม่มีคนพัฒนาเว็บ ซึ่งสุดท้าย ก็เหลือแต่จ้างใครสักคนมาดูแล หรือคอยอัพเดท เพียงเท่านั้น

Web 1.0 ในยุคนั้น เกิดขึ้นมามากก็จริง แต่ก็ช่วงสั้นๆ ที่พากันกระโจนไปยืนอยู่ในโลก Cyber net แต่ก็เป็นพื้นที่ไว้สำหรับประกาศ ว่าองค์กร มีเว็บไซต์ และไว้ประกาศแจ้ง เรื่องสำคัญๆ บางเรื่อง อาทิ โอวาทประธานมูลนิธิ คำคมของนักพัฒนาอาวุโส หรือแถลงการณ์ ลงบทความเก่าๆ ส่วนพื้นที่ สนทนา หรือ web board ไว้สนทนา ตอบโต้กันแรกๆ ก็มีที่เว็บตนเอง แต่คนทำงานเว็บไม่รู้ปัญหาไม่มีข้อมูล คนทำข้อมูลอยู่กับปัญหาไม่เล่นเว็บ ก็เลยไม่ได้สื่อสารกับสาธารณะ ยิ่งพอต่างคนต่างมีก็เลยไม่ได้ไปเล่นที่ไหน แต่ก็มีส่วนหนึ่งหันไปเล่นในที่ชุมนุมใหญ่ อาทิ พันธุ์ทิพย์ ( http://www.pantip.com) นอกจากนั้น ก็จะเป็น เว็บไทยเอ็นจีโอ http://www.thaingo.org ทำให้เกิดเครือข่าย social network น้อยๆ ตามมา

ลักษณะโครงสร้างการจัดการเว็บของในขบวนการงานพัฒนายุคนั้น จะคล้ายๆ เว็บไซต์อื่นๆ คือ จ้างหรือมีเจ้าหน้าที่ประจำสักคนหนึ่งทำหน้าที่ เป็นผู้ดูแลเว็บและข้อมูล ( webmaster) ซึ่งคล้ายๆ กันเกือบทุกองค์กรคืองานเยอะมาก มากจนกิจกรรมการสื่อสารกับผู้ใช้ (user) ไม่ค่อยจะมี ส่วนในด้านการผลิตเนื้อหาของเว็บไซต์ งานพัฒนาในยุค web 1.0 เป็นระบบข้อมูลทางเดียว คือเจ้าของเว็บไซต์อยากเผยแพร่ข้อมูลข้อมูล เหล่านี้สามารถอ่าน หรือถูกอ่านได้อย่างเดียว ส่วนผู้อ่านหรือคนเข้ามาขอรับบริการมีหน้าที่รอรับข้อมูล คืออ่านหรือcopy ได้อย่างเดียว หรืออาจจะได้ข่าวสารจากระบบ mailist เป็นรูปแบบการส่งเมล์ทีละมากๆ ซึ่งมีปัญหาคือ ผู้ดูแล server ไม่ยอมให้ใช้อีกแล้วเนื่องจากเครื่อง server ทำงานหนัก นอกนั้นการจัดการข้อมูลเป็นไปในลักษณะเชิงเดี่ยวโดยผู้ดูแลเป็นหลักนั่นเอง ทำให้การสื่อสารในยุคนั้นเทียบกับโลกภายนอกแล้ว ยังยังไม่กว้างหรือแพร่กระจายอย่างรวดเร็วตามศักยภาพของเทคโนโลยีมากนัก

เพราะเอาเข้าจริงๆ NGOs ในยุคนั้นยังกลัวๆ กับเทคโนโลยี เพราะยังยุ่งยากซับซ้อน วัฒนธรรมของผู้ใช้ชอบการแสดงความคิดเห็นยังไม่มากนัก ความยุ่งยากล่าช้าอีกอย่างคือ ระหว่าง เจ้าของข้อมูล เจ้าของเว็บไซต์ และผู้ดูแลเว็บไซต์ อาจจะเป็นคนละคนกัน ดังนั้นหากเกิดปัญหาขัดข้องสักครั้ง กว่าจะแก้ไขได้อาจจะใช้เวลาร่วมเดือน เว็บไซต์ในยุคนั้นจึงมีฐานะคล้ายๆ ป้ายประกาศออนไลน์ คล้ายหนังสือพิมพ์ออนไลน์ หรือ วารสารออนไลน์ ไม่ยอมอัพเดท เสียมากกว่า

และในยุคนั้นเอง ที่เว็บไซต์ อย่าง http://www.Thaingo.org ครองอันดับต้นๆ ของเว็บไซต์ที่คนเข้ามากที่สุด ( ยึดเกณฑ์จากการจัดอันดับของ http://www.truehits.net) บนฐานความสำเร็จในยุคนั้น คือ สีสัน ชีวิตชีวา อิสระในการนำเสนอและความหลากหลาย นอกจากนั้นยังนำเสนอตนเอง เป็นศูนย์กลางการสนทนา ศูนย์กลางข้อมูลและประสานให้ NGOs หันมาใช้เว็บบอร์ดเพื่อเป็นพื้นที่สื่อกลางกับสาธารณะ นำมาซึ่งพื้นที่สนทนา สร้างบรรยากาศ สร้างความคึกคักพอสมควร ในยุคนั้น แต่แล้วในช่วงปลายๆ ยุคนั้นเอง ก็เกิดเว็บสื่อทางเลือกรุ่นใหม่ๆ เกิดคนรุ่นใหม่มืออาชีพมากขึ้นเข้ามาบริหารเว็บไซต์ของขบวนการ NGOs ทำให้เว็บ NGOs เริ่มก้าวข้ามพ้น Web 1.0 ตั้งแต่นั้นมา

(อ่านต่อตอนที่ 2)

This entry was posted in Uncategorized. Bookmark the permalink.

Leave a comment